สรรพคุณของ ต้นพิกุล
สรรพคุณของ ต้นพิกุล
ลักษณะของพิกุล
- ต้นพิกุล มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ไทย พม่า อินโดจีน และในหมู่เกาะอันดามัน จัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ไม่ผลัดใบ มีความสูงของต้นประมาณ 10-25 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มกว้างหนาทึบ เปลือกต้นเป็นสีเทาอมสีน้ำตาลและแตกเป็นรอยแตกระแหงตามแนวยาว ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว ส่วนกิ่งอ่อนและตามีขนสีน้ำตาลขึ้นปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด การตอนกิ่ง และวิธีการปักชำกิ่ง ชอบขึ้นในพื้นที่ดินดี ชอบแสงแดดจัด ทนทานต่อสภาพน้ำท่วมขังได้นานถึง 2 เดือน มีการเพาะปลูกมากในมาเลเซีย เกาะโซโลมอน นิวแคลิโดเนีย วานูอาตู และออสเตรเลียทางตอนเหนือ รวมไปถึงเขตร้อนทั่ว ๆ ไป[8](เปลือกต้น พบว่ามีสารในกลุ่มไตรเทอร์ปีน ได้แก่ Beta amyrin, Betulinic acid, Lupeol, Mimusopfarnanol, Taraxerone, Taraxerol, Ursolic acid, สารในกลุ่มกรดแกลลิก ได้แก่ Phenyl propyl gallate, น้ำมันหอมระเหย ได้แก่ Cadinol, Diisobutyl phthalate, Hexadecanoic acid, Octadecadienoic acid, Taumuurolol, Thymol)[4]


- ใบพิกุล มีใบเป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันแบบห่าง ๆ ลักษณะของใบเป็นรูปไข่หรือรูปรี ใบมีความกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 5-12 เซนติเมตร ปลายใบเรียวแหลมหรือหยักเป็นติ่งสั้น ๆ โคนใบมน ส่วนขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย หลังใบเป็นสีเขียวเรียบเป็นมัน ท้องใบจะเป็นสีเขียวอ่อน และเนื้อใบมีลักษณะค่อนข้างเหนียว ส่วนก้านใบยาวประมาณ 4-6 เซนติเมตร หูใบมีลักษณะเป็นรูปเรียวแคบ ยาวประมาณ 3-5 มิลลิเมตร และหลุดร่วงได้ง่าย

- ดอกพิกุล ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือเป็นกระจุกประมาณ 2-6 ดอก โดยจะออกตามซอกใบหรือตามปลายกิ่ง ดอกพิกุลจะมีขนาดเล็กสีขาวนวล มีกลิ่นหอม (กลิ่นยังคงอยู่แม้ตากแห้งแล้ว) และหลุดร่วงได้ง่าย เมื่อดอกบานเต็มที่จะกว้างประมาณ 0.7-1 เซนติเมตร ก้านดอกย่อยมีความยาวประมาณ 2 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียงซ้อนกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงด้านนอกมีลักษณะเป็นรูปใบหอก ปลายแหลม มีขนสั้นสีน้ำตาลนุ่ม ยาวประมาณ 7-8 มิลลิเมตร โดยกลีบดอกจะสั้นกวากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอกมี 8 กลีบ ที่โคนกลีบเชื่อมกันเล็กน้อย กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีส่วนยื่นออกมาด้านหลัง 2 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นจะมีลักษณะ ขนาด และสีคล้ายคลึงกับกลีบดอกมาก ดอกมีเกสรตัวผู้สมบูรณ์ 8 ก้าน อับเรณูเป็นรูปใบหอกและยาวกว่าก้านชูอับเรณู เกสรตัวผู้เป็นหมัน 8 อัน และรังไข่มี 8 ช่อง เมื่อดอกใกล้โรยจะเป็นสีเหลืองอมสีน้ำตาล สามารถออกดอกได้ตลอดปี (ดอกมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งประกอบไปด้วย 3-hydroxy-4-phenyl-2-butanone 4.74%, 2-phenylethanol 37.80%, 2-phenylethyl acetate 7.16%, (E)-cinnamyl alcohol 13.72%, Methyl benzoate 13.40%, p-methyl-anisole 9.94%)[5]



- ผลพิกุล ลักษณะของผลเป็นรูปไข่ถึงรี ผิวผลมีลักษณะเรียบ ผลอ่อนเป็นสีเขียวมีขนสั้นนุ่ม เมื่อสุกแล้วจะเปลี่ยนเป็นสีแสด ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลมีขนาดกว้างประมาณ 1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 2.5-3 เซนติเมตร เนื้อในผลเป็นสีเหลืองมีรสหวานอมฝาดและมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ลักษณะแบนรี แข็ง สีดำเป็นมัน ติดได้ตลอดปี (ผลและเมล็ดพบ Dihydro quercetin, Quercetin, Quercitol, Ursolic acid, สารในกลุ่มไตรเทอร์ปีน ซึ่งได้แก่ Mimusopane, Mimusops acid, Mimusopsic acid ส่วนเมล็ดพบสารไตรเทอร์ปีนซาโปนินได้แก่ 16-alpha-hydroxy Mi-saponin, Mimusopside A and B, Mi-saponin A และยังมีสารอื่น ๆ อีก ได้แก่ Alpha-spinasterol glucoside, Taxifolin)



สรรพคุณของพิกุล
- ใช้เป็นยาบำรุงโลหิต (ดอก, แก่น, แก่นที่ราก, ราก)
- แก่นที่รากและดอกแห้งใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ ส่วนดอกสดใช้เข้ายาหอมช่วยบำรุงหัวใจเช่นกัน (ดอก, ขอนดอก, แก่นที่ราก)
- ช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น (ขอนดอก, ดอกแห้ง)
- ช่วยคุมธาตุในร่างกาย (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้โลหิต (ดอก, ราก) ฆ่าพิษโลหิต (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้เลือดตีขึ้นให้สลบไป แก้เลือดตีขึ้นถึงกับตาเหลือง (ใบ)
- ช่วยแก้อาการอ่อนเพลีย (ดอกแห้ง)
- ช่วยแก้หอบ (ดอกแห้ง)
- ช่วยแก้หืด (ใบ)
- แก่นใช้เป็นยาแก้ไข้ (แก่น, ผลดิบและเปลือก, ดอกแห้ง]), แก้ไข้จับ แก้ไข้หมดสติ แก้ไข้คลั่งเพ้อ (ดอกแห้ง)
- ช่วยแก้อาการร้อนใน (ดอกแห้ง)
- ผลสุกใช้รับประทานแก้อาการปวดศีรษะ (ผลสุก, ดอกแห้ง)
- ดอกแห้งใช้ป่นทำเป็นยานัตถุ์ (ดอกแห้ง)
- ช่วยรักษาโรคคอ (เปลือกต้น)
- ผลสุกใช้รับประทานแก้โรคในลำคอและปาก (เปลือกต้น)
- ช่วยแก้อาการเจ็บคอ (ดอกแห้ง)
- เปลือกต้นใช้เป็นยาอมกลั้วคอล้างปาก แก้โรคเหงือกอักเสบ เหงือกบวม รำมะนาด (เปลือกต้น)
- เปลือกต้นนำมาต้มกับน้ำเกลือช่วยแก้อาการปวดฟัน ช่วยทำให้ฟันแน่น แก้ฟันโยก ช่วยฆ่าแมงกินฟันที่ทำให้ฟันผุ (เปลือกต้น)
- ช่วยรักษาอาการปากเปื่อย (เปลือกต้น)
- ดอกแห้งช่วยขับเสมหะ แก้เสมหะ ละลายเสมหะ (ดอกแห้ง, ราก)
- รากและดอกใช้ปรุงเป็นยาแก้ลม (ระบบไหลเวียนทางโลหิต) ช่วยขับเสมหะที่เกิดจากลม (ราก, ดอก)
- ช่วยบำรุงปอด (ขอนดอก)
- ช่วยแก้อาการท้องเสีย ลงท้อง (ดอกสด ดอกแห้ง, ผลดิบและเปลือก, เปลือกต้น, ราก)
- เมล็ดนำมาตำให้ละเอียด แล้วทำเป็นยาเม็ดสำหรับสวนทวารหรือทำเป็นยาเหน็บทวารเด็กเมื่อมีอาการท้องผูก ช่วยแก้โรคท้องผูก (เข้าใจว่าใช้ได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่) (เมล็ด)
- ช่วยขับลม (แก่นที่ราก)
- ช่วยรักษาไส้ด้วนไส้ลาม (ใบ)
- ใบมีสรรพคุณฆ่าพยาธิ (ใบ, แก่น) ช่วยแก้ตัวพยาธิ (ดอกแห้ง, เปลือกต้น, ราก)
- เมล็ดใช้เป็นยาขับปัสสาวะ (เมล็ด)
- ใบช่วยรักษากามโรค ฆ่าเชื้อกามโรค (ใบ)
- ช่วยแก้ตกโลหิต (ดอกแห้ง, ราก)
- ขอนดอก (เนื้อไม้ที่ราลง มีสีน้ำตาลเข้มประขาว เรียกว่า “ขอนดอก”) ใช้เป็นยาบำรุงตับ (ขอนดอก)
- ผลดิบและเปลือกเป็นยาฝาดมาน (ผลดิบและเปลือก, ดอกสด)
- ช่วยแก้อาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อและตามร่างกาย (ดอก)
- ช่วยแก้อาการบวม (ดอกแห้ง, เปลือกต้น, ราก])
- ช่วยแก้เกลื้อน (กระพี้)ส่วนแก่นช่วยรักษากลากเกลื้อน (แก่น)
- ช่วยแก้ฝีเปื่อยพัง (ดอกแห้ง ราก)
- ช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี (ครรภ์รักษา) (ขอนดอก)
- ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งห้า” (ประกอบไปด้วยดอกพิกุล ดอกมะลิ ดอกบุนนาค ดอกสารภี และเกสรบัวหลวง), ตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งเจ็ด” (เพิ่มดอกจำปาและดอกกระดังงา), ตำรับยา “พิกัดเกสรทั้งเก้า” (เพิ่มดอกลำดวนและดอกลำเจียก) ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจ บำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น ทำให้ชื่นใจ ช่วยแก้อาการวิงเวียน หน้ามืดตาลาย ช่วยแก้ลมกองละเอียด และช่วยบำรุงครรภ์ของสตรี หรือจะใช้เข้ายาผสมกับดอกไม้ชนิดอื่นที่มีกลิ่นหอมเพื่อทำบุหงาก็ได้ (ดอก)
- ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา “พิกัดจตุทิพยคันธา” (ประกอบไปด้วยดอกพิกุล รากชะเอมเทศ รากมะกล่ำเครือ เหง้าขิงแครง) ซึ่งเป็นตำรับยาที่ช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย บำรุงหัวใจ แก้ลมปั่นป่วน แก้พรรดึก และแก้เสมหะ (ดอก)
- ดอกพิกุลจัดอยู่ใน “ตำรับยาเขียวหอม” ร่วมกับสมุนไพรชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นตำรับยาที่ช่วยบรรเทาอาการไข้ แก้อาการร้อนในกระหายน้ำ แก้พิษหัด และแก้พิษสุกใส (ช่วยบรรเทาอาการไข้จากหัดและสุกใส) (ดอก)
- ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับ “ยาหอมนวโกฐ” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลมวิงเวียน คลื่นเหียน อาเจียน ช่วยแก้ลมจุกแน่นในอก ในผู้สูงอายุ ช่วยแก้ลมปลายไข้ (มีอาการคลื่นเหียน วิงเวียน อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ท้องอืด ซึ่งเป็นอาการหลังจากการฟื้นไข้) (ดอก)
- ดอกพิกุลจัดอยู่ในตำรับยา “ยาหอมเทพจิตร” ซึ่งเป็นตำรับยาที่มีสรรพคุณช่วยแก้ลมกองละเอียด หรืออาการหน้ามืดตาลาย สวิงสวาย ใจสั่น และช่วยบำรุงดวงจิตให้ชุ่มชื่น (ดอก)
หมายเหตุ : ขอนดอก คือ เครื่องยาไทยที่อาจได้จากต้นพิกุลหรือต้นตะแบกแก่ ๆ โดยจะมีเชื้อราที่เข้าไปเจริญในเนื้อไม้ ขอนดอกจะมีกลิ่นหอมและมีรสจืด และจากข้อมูลระบุว่าขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลจะมีคุณภาพดีกว่าที่ได้จากชนิดอื่น
ข้อมูลทางเภสัชวิทยาของดอกพิกุล
- มีฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน (EC50 = 0.23-0.55 ไมโครกรัม/มิลลิลิตร) มีฤทธิ์กดหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ทำให้โพแทสเซียมต่ำ ช่วยลดความดันโลหิต มีฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัส ฆ่าเชื้อรา ฆ่าพยาธิ ต้านฮีสตามีน มีผลต่อการแบ่งตัวของเซลล์ ช่วยลดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ[5] น้ำสกัดจากดอกพิกุลแห้งมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะในสุนัขที่สลบ แม้ว่าจะนำน้ำสกัดจากดอกที่เอาเกลือโพแทสเซียมออกไปทดลองขับปัสสาวะในสุนัข ในหนูขาวปกติ หรือในหนูขาวที่ตัดต่อมหมวกไต ก็ยังมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะอยู่
- จากการทดสอบพิษเฉียบพลันของสารสกัดจากดอกพิกุลด้วยเอทานอล 50% ด้วยการให้หนูทดลองกินในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนังของหนูทดลอง ในขนาด 10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และตรวจไม่พบอาการเป็นพิษ
ประโยชน์ของพิกุล
- ผลพิกุลสามารถใช้รับประทานเป็นอาหารหรือผลไม้ของคนและสัตว์ได้ และยังช่วยดึงดูดสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนกได้เป็นอย่างดี[3]
- ดอกพิกุลมีกลิ่นหอมเย็น นิยมนำมาใช้บูชาพระ[7]
- น้ำจากดอกใช้ล้างปากล้างคอได้
- เนื้อไม้พิกุลสามารถนำมาใช้ในการก่อสร้างทำเครื่องมือได้ เช่น ทำเฟอร์นิเจอร์ เครื่องดนตรี การขุดเรือทำสะพาน โครงเรือ ไม้คาน ไม้กระดาน วงล้อ ครก สาก ด้ามเครื่องมือ เครื่องมือทางการเกษตร ฯลฯ และยังใช้เนื้อไม้ในงานพิธีมงคลได้เป็นอย่างดี เช่น การนำมาทำเป็นด้ามหอกที่ใช้เป็นอาวุธ เสาบ้าน พวงมาลัยเรือ ฯลฯ
- เปลือกต้นพิกุลใช้สกัดทำสีย้อมผ้า
- เนื่องจากต้นพิกุลมีลักษณะของทรงต้นเป็นพุ่มใบทึบ มีความสวยงาม สามารถตัดแต่งรูปทรงได้ จึงนิยมนำมาใช้ปลูกเพื่อประดับอาคารและเพื่อให้ร่มเงา หรือจะใช้ปลูกตามบริเวณลานจอดรถ ริมถนนก็ดูสวยงามเช่นกัน อีกทั้งดอกยังมีกลิ่นหอมอีกด้วย
- คนไทยโบราณมีความเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นพิกุลทองไว้ประจำบ้านจะส่งผลทำให้มีอายุยืนยาว เนื่องจากต้นพิกุลเป็นไม้ที่มีความแข็งแรงทนทานและมีอายุยาวนาน อีกทั้งยังเชื่อว่าเป็นต้นไม้ที่มีความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่ามีเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ และสำหรับการปลูกต้นพิกุลเพื่อเสริมสิริมงคลแก่บ้านและผู้อยู่อาศัย ผู้ปลูกควรเป็นสุภาพสตรี (เนื่องจากพิกุลเป็นชื่อที่เหมาะสำหรับสุภาพตรี) และควรปลูกต้นพิกุลทองในทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ผู้ปลูกควรปลูกในวันเสาร์หรือวันจันทร์ (การปลูกไม้วันเสาร์เป็นการปลูกเพื่อเอาคุณ) เพื่อจะช่วยป้องกันโทษร้ายต่าง ๆ
- ดอกมีกลิ่นหอมเย็น สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยได้ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหาร ใช้เป็นส่วนผสมในน้ำหอม ใช้แต่งกลิ่นทำเครื่องสำอาง
ที่มา https://medthai.com/%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B8%E0%B8%A5/
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น